Forum: ห้องฟังเพลง Topic: วิพากษ์เพลงเอก - สารคดีประกอบบทเพลง started by: salin Posted by salin on 25 Jul. 2006,11:48
ทักทายกันก่อนสวัสดีครับเพื่อนๆ กระผม..นายสาลิน (salin) ขอรายงานตัวครับ ด้วยเหตุที่ชอบความสุนทรีย์ของบทเพลงเก่าๆอย่างเป็นชีวิตจิตใจ ทั้งเพลงลูกทุ่งและเพลงไทยสากล ชอบศึกษาความเป็นมาของบทเพลง ครูเพลงและนักร้อง ผมมีความเชื่อว่าถ้าหากเราทราบความเป็นมาของบทเพลงอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ตำนาน วัฒนธรรมและประเพณี จักทำให้สุนทรียะในการฟังเพลงเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ผมวางกรอบไว้อย่างกว้างๆว่าจะใช้ที่แห่งนี้วิพากษ์บทเพลง สอดเเทรกความรู้ไปกับการฟังเพลงด้วยการนำเสนอเกล็ดความรู้ / สารคดีที่เกี่ยวข้องกับบทเพลง ประวัติของครูเพลงและนักร้อง ทำนองนี้ ต้องขอบคุณ คุณ Kilin เป็นอย่างมากที่ได้ให้คำแนะนำมาเปิดกระทู้ใหม่ที่นี่ครับ (ขอบคุณที่จะช่วยย้ายการะทู้มาจากส่วนของเพลงลูกทุ่งด้วยครับ) ถือโอกาสนี้เรียนเชิญเพื่อนๆมาร่วมมือกันอนุรักษ์บทเพลงอมตะให้คนรุ่นต่อไปได้สืบสานกันนะครับ พวกเราเองก็จะได้แลกเปลี่ยนทัศนะซึ่งกันและกันด้วย salin Posted by salin on 25 Jul. 2006,18:32
วิพากย์เพลงเอกหนาวลมที่เรณู ศรคีรี ศรีประจวบ (ความยาว 3.24 นาที) ![]() ก่อนที่จะเริ่มต้นวิพากย์เพลงอมตะในดวงใจของผู้คนหลายต่อหลายคนเพลงนี้ ผมมีคำปรารภมายังคอเพลงลูกทุ่งสั้นๆ ลองหลับตาสัก 10 วินาทีก่อนนะครับ สมมติว่าคุณกำลังอยู่ในภวังค์ของค่ำคืนอันเหน็บหนาว อ้างว้างและปล่าวเปลี่ยว จิตใจของคุณละล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมาย บัดดลนั้นคุณได้ยินเสียงเพลง หนาวลมที่เรณู ที่บรรจงขับร้องโดยศรคีรี ศรีประจวบ (คลิกเปิดเพลง < http://img477.imageshack.us/my.php?image=sornkirirenunakornup9.swf > ) .เริ่มต้น intro melody ด้วยเสียงเปียโนแล้วตามมาด้วยเสียงไวโอลินหวานจับใจ หลายท่านไม่อยากให้ท่อน intro ที่ยาว 56 วินาทีนี้จบลงไปเลย (ผมคนหนึ่งที่รู้สึกอย่างนั้น) เมื่อเสียงคนตรีนี้กระทบกับโสตประสาท หลายท่านอาจรู้สึกเหมือนกับผมว่าเสียงไวโอลินนั้นหวานบาดลึกไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ ทว่าในอีกมิติหนึ่งความหนาวเหน็บกลับยิ่งทวีขึ้น บางท่านที่มีความหลังฝังใจอาจรู้สึกหนาวจนสั่นและเหงาอย่างสุดขั้วหัวใจ รำลึกถึงใครบางคนที่คุณเก็บซ่อนเร้นไว้ในส่วนลึกที่สุดของหัวใจ เมื่อนั้นขอบหางตาของคุณอาจรื้นชื้นขึ้นมาโดยพลัน ![]() บทเพลงนี้ กล่าวขานถึงเรื่องราวพิสวาทฝังใจของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ได้พบรักกับผู้สาวภูไทที่อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เรณูนครถิ่นนี้ช่างมีมนต์ขลัง ได้พบนวลนางดั่งเหมือนต้องมนต์แน่นิ่ง น้องนุ่งซิ่นไหมไว้ผมมวยสวยเพริดพริ้ง พี่รักเจ้าแล้วแท้จริงสาวเวียงพิงค์แห่งแดนอีสาน .แค่ท่อนเเรกของบทเพลงก็บรรยายให้เห็นภาพแล้วว่านางเอกนั้นเป็นใครเเละมีความงดงามเพียงใด ชาติกำเนิดของเธอเป็นผู้สาวเผ่าภูไท เป็นที่ทราบกันดีว่าสาวภูไทนั้นผิวงามและรูปโฉมสะคราญนัก ผู้เขียนเพลงเหมือนจะบอกเป็นนัยให้ผู้ฟังจินตนาการว่าพระเอกน่าจะพบกับนางเอกที่งานบุญสักแห่งหนึ่ง เพราะการที่ไอ้หนุ่มต่างแดนจะได้พบกับสาวเจ้าถิ่นในเหตุการณ์ที่สาวเจ้าแต่งชุดซิ่นไหมไว้ผมมวยจนกระทั่งผูกสัมพันธ์กันได้นั้น ต้องเป็นงานบุญหรืองานมงคลอย่างใดอย่างหนึ่ง ![]() ท่อนที่สอง สัมพันธภาพอันลึกซึ้งระหว่างหนุ่ม-สาว เราเคยสัมพันธ์พลอดรักเมื่อคราหน้าหนาว คืนฟ้าสกาวเหน็บหนาวน้ำค้างเหลือนั่น เพราะได้เคียงน้องถึงต้องหนาวตายไม่ไหวาดหวั่น รุ่งลางต้องร้างไกลกันสุดหวั่นไหวก่อนลา บทเพลงสื่อความหมายออกมาอย่างชัดเจนเลยว่าสัมพันธภาพระหว่างเจ้าหนุ่มต่างแดนกับผู้สาวภูไทคนงามเป็นไปอย่างลึกซึ้งถึงขนาดว่าร่วมกันผ่านค่ำคืน อันหนาวเหน็บมาด้วยกัน แล้วมีอันต้องจำพรากจากกันเมื่อยามรุ่งอรุณ ถือว่าเป็นความลุ่มลึกของผู้เขียนบทเพลงที่มิได้ใส่รายละเอียดไปมากกว่านี้ เปิดช่องให้กับผู้ฟังจินตนาการไปได้หลายทาง และมิได้เป็นประเด็นพาดพิงให้ผู้สาวต้องเสียหาย ![]() ท่อนที่สาม ความอาลัยอาวรณ์ของเจ้าหนุ่มยามร้างเเรมไกลจากผู้สาว ผ้าผวยร้อยผืนไม่ชื่นเหมือนน้องอยู่ใกล้ ดูดอุร้อยไหไม่คลายหนาวได้หรอกนา ห่างน้องพี่ต้องหนาวนักอุรา คอยนับวันเวลาจะกลับมาอบไอรักเรา เป็นความชาญฉลาดของผู้ประพันธ์เพลงที่ยกเอาเอกลักษณ์ของชนเผ่าภูไทมาใช้เปรียบเทียบในเนื้อเพลงว่า ไออุ่นที่ได้รับจากการห่มผ้าผวย (ผ้าห่มของชาวอีสาน) และการดื่มอุ (สาโทดีๆนั่นเองใช้ดื่มแก้หนาวหรือดื่มให้เมามายก็ได้) ว่ามิอาจเทียบได้กับไออุ่นที่ได้รับจากผู้สาว เป็นการตอกย้ำว่าสาว-หนุ่มคู่นี้มีสัมพันธ์ที่ดูดดื่ม จนเชื่อได้ว่าเมื่อจากกันมาไกลแสนไกลย่อมต้องมีความห่วงหาอาวรณ์กันจริงๆ อันมีผลให้ตราตรึงอยู่ในหัวใจของผู้ฟังเพลงตลอดมา ![]() ท่อนส่งท้าย เย็นลมเหมันต์ผ่านผันยิ่งพาสะท้อน โอ้น้องบังอรก่อนนั้นเคยคลอเคียงเจ้า ครั้งเที่ยวชมงานพระธาตุพนมยามหน้าหนาว พี่ยังไม่ลืมนงเยาว์โอ้เเม่สาวเรณู ครั้นเหมันตฤดูผ่านมาอีกครา สายลมหนาวพัดมาต้องผิวกายถึงกับทำให้เจ้าหนุ่มสะท้อนใจถวิลหาผู้สาวภูไทผู้นั้น นึกถึงความหฤหรรษ์คราที่เคยคลอเคลียกันที่งานบุญประจำปีฉลองพระธาตุพนม มนต์ขลังของบทเพลงนี้จะลดลงไปอย่างน่าใจหาย หากว่าผู้เขียนเพลงมิได้กล่าวถึงพระธาตุพนมอันเป็นฉากหลังของมนต์รักที่เกิดขึ้น ตราบเท่าที่พระธาตุพนมยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยอีสาน ตราบนั้นผู้คนที่ถวิลหาความไพเราะจากบทเพลงหนาวลมที่เรณูย่อมนึกถึงมนต์รักของคู่สาว-หนุ่มที่มีพระธาตุพนมเป็นฉากหลังนั่นแล เหตุผลที่ทำให้บทเพลง หนาวลมที่เรณู ยังคงเป็นเพลงอมตะในดวงใจ 1) ความไพเราะอย่างลุ่มลึกของ intro melody และท่วงทำนองเพลงที่คอเพลงลูกทุ่งฟังแล้วต้องหลงใหล มีเพลงไทยลูกทุ่งจำนวนน้อยมากที่มี intro melody ยาวเกือบหนึ่งนาทีอย่างนี้ ผู้เรียบเรียงเสียงประสานต้องมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าการขึ้นต้นด้วยเสียงดนตรีที่ยาวเกือบหนึ่งในสามของบทเพลงต้องประทับใจผู้ฟังและก็ประสบความสำเร็จจริงๆ ยังมีบทเพลงของศรคิรี ศรีประจวบอีก 2 เพลงที่มีท่วงทำนองเพลงเหมือนกับเพลงหนาวลมที่เรณูคือ เพลงตะวันรอนที่หนองหานและเพลงหนุ่มกระเป๋า ซึ่งไพเราะมากทั้งสองเพลง แต่ที่สุดของที่สุดต้องเป็นเพลงหนาวลมที่เรณูนี่แหละครับ ![]() 2) เนื้อหาของบทเพลงที่มีความประณีตบรรจงในการเลือกใช้สถานที่สำคัญที่สุดของชาวอีสานมาเป็นเบื้องหลังฉากรักของคู่พระ-คู่นาง อันที่จริงมีพระธาตุเรณูนครซึ่งเป็นองค์จำลองของพระธาตุพนมประดิษฐานที่อำเภอเรณูนคร แต่ครูเพลงเลือกที่จะใช้พระธาตุพนม นั่นแสดงว่าครูเพลงจงใจที่จะสื่อถึงสิ่งสำคัญอันศักดิ์สิทธิ์สูงสุดไปถึงผู้ฟังเพลงนั่นเอง การเลือกสาวภูไทมาเป็นนางเอกของเรื่องมีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เป็นจริง อีกทั้งผนวกวัฒนธรรมท้องถิ่นผสมผสานเข้าในเนื้อเรื่องได้อย่างลงตัวเช่น นุ่งซิ่นไหม ไว้ผมมวย ห่มผ้าผวย ดูดอุ งานประจำปีฉลองพระธาตุพนมที่จัดขึ้นในฤดูหนาว ซึ่งคนฟังสามารถเล็งเห็นภาพได้โดยมิยาก ทั้งหมดทั้งปวงนี้เมื่อนำมาร่างเป็นบทเพลงที่วางบทให้คู่พระ-คู่นาง ประสบพบรักกันในบรรยากาศที่แสนจะโรแมนติกดังกล่าว ย่อมทำให้ผู้ฟังเชื่อได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ผู้เขียนเลือกใช้ถ้อยคำแบบง่ายๆสื่อสารออกมาแบบกินใจ ไฉนเลยเพลงรักที่แสนหวานจะมิบังเกิดขึ้น พล็อตเรื่องถูกกำหนดให้ดำเนินไปตามแบบฉบับของเพลงรักนั่นคือ เมื่อพบรักแล้วต่อมาต้องมีอันต้องพลัดพราก ความเสน่หาอาลัยอาวรณ์ก็เป็นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ผู้เขียนเพลงนำเสนอฉากพระธาตุพนมในวรรครองสุดท้ายก่อนจะจบเพลง (ไม่ค่อยพบในบทเพลงอื่นๆที่เอ่ยถึงสถานที่สำคัญของท้องเรื่องในตอนเกือบจะสุดท้าย) และตอกย้ำถึงเรณูนครในบรรทัดสุดท้ายได้อย่างวิจิตรบรรจงว่า ครั้งเที่ยวชมงานพระธาตุพนมยามหน้าหนาว พี่ยังไม่ลืมนงเยาว์โอ้เเม่สาวเรณู 3) เสียงขับร้องของศรคีรี ศรีประจวบ นั้นเป็นแก้วเสียงที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่เคยพบในนักร้องลูกทุ่งคนอื่นๆเลย ตราบจนกระทั่งบัดนี้ น้ำเสียงของศรคิรีที่เปล่งออกมานั้นเป็นน้ำเสียงธรรมชาติที่ไม่มีการดัดเสียงหรือตะเบ็งแต่อย่างใด น้ำเสียงทุ้ม นุ่ม แต่โทนเสียงระดับสูง สูงมากๆจนไม่มีใครสามารถเลียนแบบได้ (นักร้องสมัครเล่นหลายต่อหลายคนนำบทเพลงของศรคีรีไปขับร้อง ส่วนใหญ่มักไปไม่รอดเนื่องจากไม่สามารถเลี้ยงโทนเสียงเอาไว้ที่ระดับสูงได้ตลอด) น้ำเสียงหวานปนเศร้าและท่วงทีดูลึกลับ เป็นมนต์เสน่ห์เฉพาะตัวของศรคีรี ศรีประจวบ ที่ยังคงอมตะตราบจนทุกวันนี้ วิพากย์โดย salin ขออนุญาตฝากตัวณ.ที่นี้ด้วยครับ Posted by salin on 25 Jul. 2006,18:34
กว่าจะมาเป็น ศรคีรี ศรีประจวบ![]() ศรคีรี ศรีประจวบ เป็นชาวจังหวัดสมุทรสงคราม ชื่อจริง น้อย ทองประสงค์ ชีวิตตรากตรำทำงานหนักมาตั้งเเต่เด็กทั้งออกทะเล ลากอวน จับปู แม้กระทั่งปีนขึ้นยอดมะพร้าวเพื่อเอาน้ำตาล ขณะที่เขาบวชอยู่นั้นต้องประสบกับ "รักครั้งแรก" เป็นพิษ เนื่องจากว่าที่พ่อตาบังคับให้ลูกสาวที่ผูกสัมพันธ์รักกับเขาก่อนที่จะบวช แต่งงานไปกับชายอื่น เขาจึงเตลิดหนีออกจากบ้านมาอาศัยอยู่กับพี่ชายที่ทำไร่สับปะรดอยู่ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นด้วยเหตุที่ชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กเมื่อมาอยู่ในกลุ่มชาวไร่ที่ชอบเพลงด้วยกัน จึงนึกสนุกกันขึ้นในหมู่บ้านจ้างครูดนตรีมาจากค่ายธนะรัชต์ ไม่ช้าไม่นานดงสับปะรดก็มีวงดนตรี "รวมดาววัยรุ่น" รับงานแสดงทั่วไปตามบ้านที่ขายสับปะรด ได้โดยไม่คิดเงินทอง ต่อมาได้มีโอกาสนำวงดนตรีเข้าแสดงในงานปีใหม่ของจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ฟังเสียงและเห็นหน้าก็รักใคร่ชอบพอ ตั้งชื่อใหม่ให้เป็น ศรคีรี ศรีประจวบ นับตั้งแต่นั้นมาชื่อเขาก็โด่งดังทั่วทั้งประจวบฯ-เพชรบุรีด้วยชื่อของวงดนตรีลูกทุ่งภูธรรับงานแสดงมามาก และคว้าถ้วยรางวัลจากการประกวดมามากจากวงดนตรีต่างจังหวัดด้วยกัน จนกระทั่งได้มีโอกาสได้พบปะกับเพลิน พนาวัลย์ และเป็นท่านผู้นี้เองที่พาเขา ไปพบบรมครูเพลง ไพบูลย์ บุตรขัน ครูไพบูลย์ได้ฟังเสียงแล้วจึงแต่งเพลงให้ร้องในเวลาต่อมา "แม่ค้าตาคม", "น้ำท่วม", "บุพเพสันนิวาส" เป็นเพลงรุ่นแรกที่ สร้างชื่อให้กับเขา หลังจากที่เพลงเริ่มเป็นที่รู้จัก ศรคีรีจึงมาเช่าบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ยังไม่นำวงดนตรีมา มีงานทางโน้นก็กลับไป ครั้งแรกที่ขึ้นมาแสดงที่กรุงเทพฯในงานศพน้องชายครูไพบูลย์ที่วัดหลักสี่ บางเขน ตั้งแต่วันนั้นวงก็เริ่มรับงานในกรุงเทพฯวงดนตรีศรคีรีเดินสายทั่วประเทศ โดยออกเดินสายใต้เป็นครั้งแรกประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ช่วงนั้นศรคีรีได้มีโอกาสแสดงหนังของ ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ เรื่อง "มนต์รักจากใจ" และต้องตกที่นั่งลำบากเมื่อชื่อของเขามีส่วนเข้าไปพัวพันคดีสังหารคนในวงการด้วยกัน ช่วงนั้นทำให้ชื่อเสียงเขาตกลงไปบ้าง แต่ในที่สุดก็พิสูจน์ตัวเองได้ว่ามิได้เกี่ยวข้องชื่อเสียงกลับมาอีกครั้งในเพลง "ตะวันรอนที่หนองหาน" "อยากรู้ใจเธอ" รักแล้งเดือนห้า" "ลานรักลั่นทม" และเพลง "คิดถึงพี่ไหม" ในขณะที่บันทึกเสียงเพลงหลังนี้ ศรคีรีขอร้องให้ปิดไฟให้มืดเพื่อสร้างอารมณ์เพลง ซึ่งเป็นเพลงแรกที่เขาทำเช่นนี้ เพลงนี้แต่งโดย พยงค์ มุกดา บรมครูเพลงอีกท่านหนึ่งของเมืองไทย เพลง"คิดถึงพี่ไหม" นี่เป็นเพลงสุดท้ายในชีวิตของศรคีรีที่ได้บันทึกเสียง และเป็นหนึ่งในเพลงลูกทุ่งอมตะมาจนตราบทุกวันนี้ ![]() ก่อนที่ศรคีรีจะเสียชีวิตเขาได้ไปทำการแสดงที่โรงหนังเอกมัยรามา เสมือนหนึ่งเป็นลางร้าย มีแฟนเพลงนำพวงมาลัยดอกไม้สดคาดด้วยผ้าดำมามอบให้บนเวทีขณะร้องเพลง ศรคีรีรับไว้ด้วยความเกรงใจ เมื่อกลับเข้าหลังเวทีศรคีรีสั่งเลิกการแสดงคืนนั้นทันทีทั้งที่ร้องเพลงได้เพียง 5 เพลงเท่านั้น การจากไปของสุดยอดนักร้องเพลงหวาน ศรคีรี ศรีประจวบเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2515 เวลา 08 .30 น. ขณะที่เขาเดินทางกลับจากการแสดงที่วัดหน้า พระธาตุ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อเปิดทำการแสดงที่วัดภาษี เอกมัย รถที่เขานั่งมานั้นเกิดอุบัติเหตุชนกับรถบรรทุกซุง ศรคีรีกระเด็นออกไปจากรถเสียชีวิตทันที จบชีวิตนักร้องลูกทุ่งที่กำลังโด่งดัง ศรคีรีเป็นนักร้องลูกทุ่งที่เป็นต้นแบบลูกทุ่งแท้ๆที่ในปัจจุบันหาได้ยากและหาคนทดแทนได้ยากเช่นกัน เหลือไว้แต่บทเพลงอันไพเราะที่ยังคงอยู่ในใจของคนฟังเพลงลุกทุ่งตลอดไป ข้อมูลจาก < http://www.luktungfm.com/krupeng/sonkeyree%20sriprajoub.html > เรียบเรียงใหม่โดย salin Posted by salin on 25 Jul. 2006,18:36
วิพากย์เพลงเอก ตะวันรอนที่หนองหาน ศรคีรี ศรีประจวบ < ![]() ![]() ตะวันรอน หมายถึงดวงตะวันที่ใกล้จะลับขอบฟ้า ลับขอบฟ้าที่หนองหานแห่งเมืองสกลนคร แค่ชื่อเพลงนี่ก็คลาสสิกสมกับที่เป็นเพลงเอกเพลงหนึ่งของศรคีรี ศรีประจวบ เลยเชียว ก่อนหน้าที่จะทำการบันทึกเสียงเพลงนี้ ศรคีรีได้มีเพลงเอกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสาวภูไทและเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงนั่นคือเพลงหนาวลมที่เรณู อันเป็นบทเพลงหวานที่เล่าขานถึงมนต์รักท่ามกลางสายลมหนาวของเหมันตฤดูโดยมีพระธาตุพนมเป็นฉากหลังระหว่างเจ้าหนุ่มต่างแดนกับผู้สาวภูไทคนงาม สำหรับเพลงนี้นางเอกในท้องเรื่องยังคงเป็นผู้สาวภูไทเช่นเดิม หากแต่เปลี่ยนฉากหลังเป็นหนองหาน สกลนคร ![]() เริ่มต้น introductory melody ทำนองเรียบๆแต่ไพเราะ แล้วนำไปสู่การสร้างสรรอารมณ์เพลงด้วยเสียงหวานๆของแซกโซโฟน (คลิกเปิดเพลง < http://img139.imageshack.us/my.php?....vc2.swf > ) ท่อนแรก ของบทเพลงเป็นการอ้างอิงถึงเพลงหนาวลมที่เรณูว่า สาวภูไทนั้นใช่ว่าจะมีแต่ที่เรณูนครเท่านั้น ที่สกลนครก็มีชนเผ่าภูไทเช่นกัน โอ้ละเน้อ โอ โอ โอ โอ้ ละเน้อ ผู้สาวภูไทใช่มีแต่ที่เรณู ได้ฮักแล้วที่ได้ฮู้คือสาวภูไทสกลนคร ครั้งไปเที่ยวงานพระธาตุเชิงชุมได้พบบังอร เหมือนเคยร่วมบุญปางก่อนอยู่สุดขอบฟ้าก็มาพบพาน สองวรรคท้ายเป็นการเปิดตัวพระเอกตามท้องเรื่องที่ได้มาเที่ยวงานประจำปีฉลองพระธาตุเชิงชุม พระธาตุสำคัญแห่งหนึ่งของชาวอีสาน และมีวาสนาได้พบกับสาวภูไทโฉมงามจนได้ผูกสมัครรักใคร่กัน ครูเพลงได้สะท้อนความเชื่อของชาวพุทธที่ว่าการทำบุญร่วมกันแต่ชาติปางก่อนนั้นเป็นเหตุบันดาลให้มาพบกันในชาตินี้ แม้นจะอยู่ห่างกันไกลแสนไกลเพียงใดสุดท้ายก็ได้มาพบพานผูกรักกันจนได้ ![]() ท่อนที่สอง ของบทเพลงเป็นการบรรยายภาพของหนองหานที่เป็นฉากหลัง (background) ของการดำเนินเรื่องได้อย่างงดงามยิ่งจนผู้ฟังเคลิบเคลิ้มตามไปด้วย แดดอัศดงค่ำลงที่ฝั่งหนองหาน เฮาสองเคยเที่ยวด้วยกันมนต์ฮักสายัณห์สวาทวาบหวาม สายลมเฉื่อยฉิวทิวสนลิ่วโอนสอดเสียงกังวาน เหมือนเสียงใจเฮาสาบานให้หนองหานได้เป็นสักขี ผู้เขียนเพลงมิได้ให้รายละเอียดของการพบกันระหว่างสาว-หนุ่ม และที่มาที่ไปของนางเอกมากนัก คล้ายกับว่าอ้างอิงมาจากสาวภูไทแห่งเรณูนครให้ผู้ฟังทราบเป็นนัยอยู่แล้วว่าเป็นสาวงาม มันเป็นความยากอย่างสุดลำเค็ญของครูเพลงที่จะสร้างสรรบทเพลงใหม่ที่มีเนื้อหาคล้ายกับเพลงเอกที่โด่งดังก่อนหน้านี้อย่างเพลงหนาวลมที่เรณูให้ขึ้นมาเทียบเทียมได้ ครูเพลงจึงหาทางออกโดยให้ความสำคัญกับสถานที่ สร้างมนต์ขลังให้กับหนองหานเพิ่มขึ้นไปอีก แล้วนำมาเชื่อมโยงความรักของสองหนุ่ม-สาว ![]() ท่อนที่สาม โอ้ละเน้อ หัวใจดังเหมือนต้องมนต์ ท้าวผาแดงและนางไอ่ดลให้เจอน้องณ.แดนแห่งนี้ วอนจ้าวช่วยคุ้มฮักยั่งยืนอย่าได้หน่ายหนี เหมือนนิยายมีอยู่คู่หนองหานคนขานกล่าวชม ท่อนที่สามนี้เป็นท่อนที่แหลมคมและลุ่มลึกที่สุดของบทเพลงนี้ทั้งในเเง่ของเนื้อหาและถ้อยคำ ครูเพลงอ้างถึงตำนานรักระหว่างท้าวผาแดง-นางไอ่ อันเป็นนิยายปรำปราของหนองหาน โดยนำเรื่องมาผูกให้เข้ากับความรักของหนุ่ม-สาวในลักษณะของการยกย่องสักการะ ขออำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของท้าวผาแดง-นางไอ่ ให้ช่วยพิทักษ์ปกป้องความรักของทั้งคู่ให้มีสุขสมปรารถนาตลอดไป ![]() ท่อนสุดท้าย รักแท้ที่ไม่มีอุปสรรคไฉนเลยจะมีใครจดจำได้ แดดอ่อนคราใดหัวใจพี่สั่นสะท้าน คิดถึงเคยฮักผูกพันคิดถึงหนองหารที่เคยรื่นรมณ์ ความหลังฝั่งหนองที่เคยประคองนวลน้องแนบชม หัวใจยังครางระงม โอ้แม่สาวสกลที่รัก มนต์รักในบทเพลงก็ไม่ต่างไปจากฉากรักในชีวิตจริงนักหรอก ยามที่คู่รักมีอันต้องจำพรากจากกัน ความอาดูร-ถวิลหาระหว่างกันนั้นมันยากที่จะพรรณนา ครูเพลงตอกย้ำถึงภาพของคู่รักที่ฝั่งหนองหาน และสาวงามเเห่งเมืองสกลนครได้อย่างชนิดที่แฟนเพลงของศรคีรีมิอาจที่จะลืมเลือนได้ ![]() ป.ล. ผู้วิพากย์นั้นก็มีความทรงจำที่งดงามกับสาวภูไทแห่งเมืองสกลนครนางหนึ่ง หากว่าฉากหลังของท้องเรื่องมิใช่หนองหาน ตราบจนทุกวันนี้ยังคงเก็บภาพนั้นไว้ในใจเสมอมา วิพากย์โดย salin Posted by salin on 25 Jul. 2006,18:37
หนองหาน พระธาตุเชิงชุม และชนเผ่าภูไท ![]() ทักทายกันก่อน ผู้วิพากย์มีความเชื่อว่าในการฟังเพลงนั้น หากผู้ฟังเพลงมีความรอบรู้ถึงที่มาที่ไปของเพลงนั้นๆ ทั้งผู้ประพันธ์เนื้อเพลง-ทำนองเพลง ผู้ขับร้อง รวมทั้งประเพณี วัฒนธรรม ตำนาน ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับเพลงแล้วไซร้ จะเป็นการเพิ่มอรรถรสในการฟังเพลงเป็นอย่างมาก อย่างกรณีของชนเผ่าภูไทที่เปรียบดุจเพชรน้ำเอกของภาคอีสาน มีเอกลักษณ์ทางด้านวัฒธรรมอันเฉพาะตัว สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้ยลมาแล้วตราบนานเท่านาน กระทั่งครูเพลงได้นำมาบรรจงเรียบเรียงให้ศรคีรี ศรีประจวบ ขับร้องถึง 2 เพลงด้วยกันคือ หนาวลมที่เรณู และ ตะวันรอนที่หนองหาน (ยังมีบทเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชนเผ่าภูไทที่ขับร้องโดยนักร้องท่านอื่นอีกหลายเพลง) ซึ่งมีความไพเราะมากสมควรจัดให้เป็นเพลงเอกที่มีความเป็นอมตะ ผู้วิพากย์จึงขอนำเสนอถึงเรื่องราวอันเป็นที่มาที่ไปของชนเผ่าภูไท รวมทั้งหนองหานและพระธาตุเชิงชุม มาให้เพื่อนๆได้รับรู้กัน ![]() หนองหาน หนองหานเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน และใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศรองลงมาจากบึงบรเพ็ดและกว๊านพะเยา บริเวณที่ตั้งหนองหานเป็นบริเวณที่ต่ำสุดของแอ่งสกลนคร มีพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 150 ตารางกิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 158 เมตร ความลึกเฉลี่ย 2.50 เมตร กว้างประมาณ 7 กิโลเมตร ยาวประมาณ 18 กิโลเมตร มีลำน้ำพุงเป็นลำน้ำสายหลักที่ไหลลงสู่หนองหานทำให้มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และยังมีลำน้ำ 13 สายไหลที่เกิดจากเทือกเขาภูพานและเนินสูงรอบหนองหานนำสายน้ำมาหล่อเลี้ยงหนองหาน พื้นที่ของหนองหานครอบคลุมเขตเทศบาลเมืองกับอีก 10 ตำบลของอำเภอเมืองสกลนคร ![]() ตำนานเมืองหนองหาน ขุนขอมซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโกเมราช ได้พาบริวารมาสร้างเมืองอยู่ที่ริมหนองหานหลวง ตรงกับท่านางอาบ ตั้งชื่อเมืองว่าเมืองหนองหานหลวง ขุนขอมได้เป็นเจ้าเมืองขึ้นกับกรุงอินทปัฐนคร มีโอรสชื่อเจ้าสุรอุทกกุมาร ได้ขึ้นครองเมืองเมื่ออายุได้ 15 พรรษา หลังจากที่ขุนขอมสวรรคต พระยาสุระอุทก มีโอรส 2 องค์ องค์ใหญ่มีนามว่า เจ้าภิงคาระ องค์น้องมีนามว่าเจ้าคำแดง อยู่มาวันหนึ่ง พระยาสุระอุทกประพาสมาถึงปากน้ำพมูลนทีซึ่งเป็นเขตติดต่อกับกรุงอินทปัฐนคร ทราบจากเสนาบดีว่าพญานาคชื่อธนมูล เป็นผู้รักษาเขตติดต่อนี้ พระยาสุระอุทก ได้ทราบเรื่องก็ไม่พอพระทัย จึงได้ท้าทายให้ธนมูลนาคมาสู้กัน ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงอิทธิฤทธิ์ข่มขู่กันแต่ยังไม่แพ้ชนะกันต่างก็เลิกรากันไป ฝ่ายธนมูลพญานาคยังไม่หายโกรธ จึงได้จัดกำลังติดตามพระยาสุระอุทกไป พอถึงชายป่าริมหนองหานหลวงก็ออกอุบายแปลงกายเป็นพานด่อม (อีเก้งเผือก) ให้ฝ่ายพระยาสุระอุทกจับไปได้นำไปกิน แต่กินเท่าใดก็ไม่หมด ฝ่ายธนมูลพญานาค ได้สั่งให้บริวารมุดดำลงในหนองหานหลวง ขุดแผ่นดินใต้เมืองให้เมืองถล่มจมน้ำ แล้วพญานาคก็จับพระยาสุระอุทกไปยังแม่น้ำธนะนที (แม่น้ำโขง) พระยาสุระอุทกก็สิ้นพระชนม์ ![]() ฝ่ายเจ้าภิงคาระ กับเจ้าคำแดง ราชบุตรพร้อมทั้งญาติวงศ์และชาวเมืองที่รอดตาย ก็พากันอพยพไปพักอาศัยชั่วคราว อยู่ที่โพนเมืองริมหนองหานหลวงทางด้านทิศใต้ จากนั้นจึงไปสำรวจชัยภูมิเพื่อสร้างเมืองใหม่ เห็นว่าที่ภูน้ำรอดเชิงชุมเป็นชัยภูมิดี จึงตั้งสัตยาธิษฐานว่าจะสร้างเมือง ณ ที่แห่งนี้ ขอให้บรรดาเทพยดาอารักษ์ได้ช่วยคุ้มครอง และทำนุบำรุงให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขมีความวัฒนาถาวรสืบไป ณ ที่นั้นมีพญานาคตนหนึ่งชื่อสุวรรณนาค อยู่ในศีลธรรมอันดีได้ผุดขึ้นมาจากพื้นดิน แล้วกล่าวว่า ตนเป็นผู้พิทักษ์รักษารอยพระพุทธบาท อยู่ที่ถ้ำโพธิรอด แล้วรับเป็นผู้ประกอบพิธีอภิเษกเจ้าภิงคาระ เป็นเจ้าเมืองหนองหานหลวง เป็นพระยาสุวรรณภิงคาระ ตามที่สุวรรณนาคถือน้ำเต้าทองคำมาทำพิธีอภิเษก ทางเมืองหนองหานน้อย ก็ได้เจ้าคำแดงเป็นเจ้าเมือง ทั้งสองเมืองก็ได้เป็นเมืองพี่เมืองน้องกับ พระยาสุวรรณภิงคาระได้อภิเษกสมรสกับพระนางนารายณ์เจงเวง ราชธิดาของพระเจ้าอินทปัฐ ![]() พระธาตุเชิงชุม พระธาตุเชิงชุมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร เป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคอีสาน และมีความเกี่ยวข้องกับประวัติเมืองสกลนครมา องค์พระธาตุเชิงชุมเป็นเจดีย์รูปปลียอดเหลี่ยมแบบลาว ภายในพระธาตุองค์จริงทำด้วยศิลาแลงก่อขึ้นเป็นรูปเจดีย์ เจดีย์ที่เห็นปัจจุบันมีลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 29 เมตร มีซุ้มประตูเปิดปิดอยู่ทั้งสี่ด้าน แต่มีประตูที่ใช้ได้เพียงประตูเดียว คือประตูด้านทิศตะวันออก การสร้างเจดีย์หุ้มพระธาตุองค์เดิม ไม่ปรากฎว่าสร้างเมื่อใด ภายในวิหารวัดพระธาตุเชิงชุมที่อยู่ติดกับองค์พระธาตุ ได้ประดิษฐานพระพุทธรูป หลวงพ่อพระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร จะมีงานสมโภชน์พระธาตุเชิงชุมระหว่าง วันขึ้น 8 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือนยี่ของทุกปี ![]() ชาวภูไท กลุ่มชนพื้นเมืองของจังหวัดสกลนคร เป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากเมืองเก่าๆ ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง (ประเทศลาว) มีภาษาพูดที่แตกต่างกันออกไป กลุ่มที่สำคัญที่รวมกันและได้รับการยกขึ้นเป็นเมืองได้แก่ กลุ่มภูไท (ผู้ไท) เมืองพรรณานิคม อพยพมาจากเมืองวังของลาว มีท้าวโฮงกลางเป็นหัวหน้า อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านปะขาว บ้านพัฒนา ต่อมาได้ย้ายมาอยู่บ้านพันพร้าว หรือพรรณานิคม ท้าวโฮงกลางได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าเมือง และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระเสนาณรงค์ เมื่อปี พ.ศ. 2387 ![]() กลุ่มภูไทยเมืองวาริชภูมิ อพยพมาจากเมืองกะปองในเขตเมืองเซโปนของลาว มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองหอย มีท้าวราชนิกุลเป็นหัวหน้า ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองวาริชภูมิ มีพระสุรินทร์บริรักษ์ บุตรท้าวราชนิกูลเป็นเจ้าเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2440 กลุ่มภูไทเมืองจำปาชนบท เป็นกลุ่มที่มาจากเมืองกะปอง มีท้าวคำแก้วบุตรท้าวไชยเชษฐ์เจ้าเมืองกะปองเป็นหัวหน้า อพยพไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านนางเหมือง และบ้านพังโคน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นพระบำรุงประชาราษฎร์ เจ้าเมืองจำปาชนบท เมื่อปี พ.ศ. 2401 ![]() กลุ่มกะโซ่เมืองกุสุมาลย์ อพยพมาจากเมืองมหาชัย มีเพี้ยเมืองสูง และบุตรโคตรเป็นหัวหน้าเพี้ยสูงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่หลวงอรัญอาสา เจ้าเมืองกุสุมาลย์ เมื่อปี พ.ศ. 2387 กลุ่มโย้ยเมืองอากาศอำนวย อพยพมาจากเมืองหอมท้าว มีท้าวดิวซอยเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยท้าวศรีสุราช ท้าวจันทนาม ท้าวนามโคตร มาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านม่วงริมยาม โดยมีท้าวศรีสุราช ซึ่งได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่หลวงผลานุกูลเป็นเจ้าเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2390 ![]() กลุ่มโย้ยเมืองวานรนิวาส เป็นกลุ่มที่ติดตามพระสุนทรราชวงศา ไปอยู่ที่เมืองยโสธร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖ มีจารย์โสมเป็นหัวหน้า ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านกุดลิง ในเขตอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านกุดลิงขึ้นเป็นเมือง ต่อมาพวกไทยโย้ยได้อพยพมาอยู่ที่บ้านกุดแฮ่ชุมภู และได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านชุมแสงหัวนา ซึ่งเป็นที่ตั้ง อำเภอวานรนิวาสในปัจจุบัน กลุ่มโย้ย เมืองสว่างแดนดิน อพยพมาจากเมืองภูวาใกล้เมืองมหาชัยกองแก้ว มีท้าวเทพกัลยาเป็นหัวหน้า ได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองสกลนคร ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านโพธิสวาง ริมห้วยปลาหาง เมื่อปี พ.ศ. 2406 ท้าวเทพกัลยา ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่พระสิทธิ์ประสิทธิ์ เจ้าเมือง ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่เดื่อศรีชัย ริมลำน้ำยาม และย้ายไปอยู่ที่บ้านหัน อำเภอสว่างแดนดินปัจจุบัน ![]() นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพวกกะเลิง ที่อพยพมาจากเมืองภูวา พวกย้อ อพยพมาจากเมืองคำเกิด คำม่วน แล้วกระจายเข้าไปอยู่ปะปนกับกลุ่มอื่น ๆ กลุ่มประชากรในจังหวัดสกลนคร อาจแบ่งกลุ่มชนพื้นเมืองออกเป็น ๖ เผ่า ตามลักษณะประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา ได้ดังนี้ คือ เผ่าภูไท (ผู้ไท) เผ่าโย้ย เผ่าย้อ เผ่าโซ่ เผ่ากะเลิง และเผ่าไทอีสาน แยกกระจายกันอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ ทั้ง 18 อำเภอ อ้างอิงจาก < http://www.tv5.co.th/service....on1.htm > เรียบเรียงใหม่โดย salin Posted by salin on 25 Jul. 2006,18:39
เกล็ดความรู้จากการฟังเพลง กว่าจะมาเป็นผู้ไทบนผืนแผ่นดินไทยทักทายกันก่อน หลังจากวิพากย์เพลง หนาวลมที่เรณู และ ตะวันรอนที่หนองหาน แถมด้วยสารคดีย่อยเกี่ยวกับ ศรคีรี ศรีประจวบ และ ผู้ไท หนองหาน พระธาตุเชิงชุม ผู้วิพากย์เองยังรู้สึกว่าขาดความลุ่มลึกไปบางอย่าง อยากรู้จริงๆว่ากว่าที่ชาวผู้ไทจะได้มาอยู่บนผืนแผ่นดินไทยนี้ พวกเขามีความเป็นมาอย่างไร เลยไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม หากว่าข้อมูลแต่ละแหล่งมีความขัดเเย้งกันอยู่บ้าง อย่าเอาเอาไปอ้างอิงเลยนะ แค่อ่านเล่นสนุกๆก็พอ ต้องออกตัวก่อนว่าผู้วิพากย์เองมิได้เล่าเรียนมาทางด้านนี้ บกพร่องอย่างไรต้องขออภัยไว้ด้วย หากมีสิ่งที่ดีอยู่บ้างขออุทิศให้กับชนเผ่าผู้ไทผู้แสนดีและผู้สาวผู้ไทนางหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำ หากไม่มีอะไรผิดพลาดตอนต่อไปจะได้นำเสนอเกี่ยวกับ อุ และ ประเพณีที่น่าสนใจของชาวผู้ไท ก่อนที่ก้าวไปวิพากย์เพลงเอกอื่นๆของศรคีรีและนักร้องท่านอื่นต่อไปครับ ![]() แต่ครั้งกาลนานมาแล้ว มีชนเผ่าที่เรียกตนเองว่า ผู้ไท (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานเขียนว่า "ผู้ไทย") ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินบนดินแดนที่ติดกับตอนเหนือของประเทศลาวและเวียตนาม และติดกับตอนใต้ของประเทศจีน ชนเผ่าผู้ไทดังกล่าวมี 2 พวกคือ ผู้ไทยดำที่นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำและสีคราม ครอบครอง 8 หัวเมือง และผู้ไทยขาวที่ชอบแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว ครอบครอง 4 หัวเมือง รวมเป็นทั้งหมด 12 หัวเมือง จึงได้รับการขนานนามว่าแคว้น "สิบสองจุไทย" โดยมีศูนย์กลางของการปกครองอยู่ที่เมืองแถง แคว้นสิบสองจุไทนี้ตั้งอยู่ชิดใกล้กับแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของประเทศจีน อันว่าแคว้นสิบสองจุไทนั้นเคยเป็นดินแดนที่อยู่ในความครอบครองของราชอาณาจักรไทยมาช้านาน แต่มีอันต้องสูญเสียให้กับประเทศฝรั่งเศสไปเมื่อ พ.ศ.2431 จากกรณีพิพาททางการเมืองระหว่างประเทศ เหตุผลเพื่อพิทักษ์รักษาเอกราชของดินแดนสยามประเทศเอาไว้ ![]() การอพยพครั้งแรกของชนเผ่าผู้ไท การละถิ่นฐานจากเมืองแถงแคว้นสิบสองจุไท การละทิ้งถิ่นฐานจากบริเวณเมืองแถงของชนเผ่าผู้ไทดำครั้งแรกนั้น มีสาเหตุมาจากการรุกรานของกลุ่มผู้ไทขาว ที่ขยายอำนาจจนสามารถครอบครองหัวเมืองได้ถึง 11 หัวเมือง พร้อมทั้งประกาศตนไม่ยอมขึ้นกับเมืองแถง ส่งผลให้ผู้ไทดำต้องอพยพลงสู่ดินแดนที่ราบสูงทางตอนใต้เรียกว่า หัวพันทั้งห้าทั้งหก อันมีเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูเป็นหัวเมืองหลัก ครั้นต่อมาต้องประสบปัญหาขัดเเย้งกับชนพื้นเมืองเดิม และทุพภิกภัยที่เกิดจากฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลก่อให้เกิดความแห้งแล้ง จึงได้อพยพอีกครั้งมาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณที่ราบเชียงขวาง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว) โดยมีเมืองเชียงขวางเป็นศูนย์กลาง ผู้ไทดำได้ทำมาหากินอย่างสงบสุขเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 200 ปี ![]() ลุถึง พ.ศ. 2321 - 2322 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระบัญชาให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) นำทัพไทยสองหมื่นคนไปตีหัวเมืองลาวตั้งแต่นครจำปาศักดิ์จนถึงนครเวียงจันทน์ กองทัพไทยล้อมเวียงจันทน์ราว 4 เดือนเศษ จึงสามารถตีนครเวียงจันทน์ได้สำเร็จ หลังจากนั้นทางการของไทยได้ผนวกประเทศลาวทั้งหมดเป็นเมืองประเทศราช ในการศึกครั้งนี้เมืองหลวงพระบางได้ส่งกองทัพมาช่วยไทยตีเวียงจันทน์ด้วย ภายหลังจากตีกรุงเวียงจันทน์แตก ฝ่ายไทยได้ให้กองทัพหลวงพระบางเคลื่อนพลไปตีหัวเมืองทางด้านตะวันออกของหลวงพระบาง อันมีผู้ไทดำครองเมืองอยู่คือเมืองทันต์และเมืองม่วย สมเด็จพระเจ้าตากสินทรับสั่งให้กวาดต้อนผู้ไทดำ (ลาวทรงดำ) เหล่านี้ไปตั้งบ้านเรือนที่เมืองเพชรบุรี (บางส่วนน่าจะย้ายไปอยู่ที่ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรีและบางจังหวัดในภาคกลาง เรียกกันว่าลาวโซ่ง) ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ผู้ไทขาวส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่เมืองแถงในแคว้นสิบสองจุไท จึงไม่ได้ถูกกวาดต้อนมาด้วย ผู้ไทดำจากสองเมืองนี้นับว่าเป็นผู้ไทระลอกแรกที่ถูกกวาดต้อนเข้าสู่ประเทศไทย (เป็นกลุ่มที่มิได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่ภาคอีสาน) นับว่าเป็นกุศโลบายที่สำคัญของฝ่ายชนะศึกที่จำต้องการกวาดต้อนผู้คนของฝ่ายแพ้ศึกมาด้วย เพื่อเป็นการตัดทอนมิให้ฝ่ายพ่ายศึกสามารถซ่องสุมรี้พลขึ้นมาแข็งข้อในภายหน้าได้ อีกทั้งเชลยศึกที่กวาดต้อนมานั้นก็นำมาปูนบำเหน็จให้กับเเม่ทัพนายกองที่มีความดีความชอบ เพื่อให้ไปช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมืองกันต่อไป ![]() การอพยพระลอกที่สอง - จากเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูเข้าสู่เมืองวัง ท้าวก่า หัวหน้าของผู้ไทยดำได้เกลี้ยกล่อมชาวผู้ไทดำราวหมื่นคนเศษ ให้อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของเจ้าอนุวงศ์หรือเจ้าอนุรุธแห่งนครเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ได้โปรดให้ไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองวัง อันเป็นพื้นที่ป่าดงและมีภูเขาตามที่ชาวภูไทยถนัดทำกินในการปลูกข้าวไร่และทำสวนผลไม้ ต่อมาท้าวก่าและสมัครพรรคพวกได้เแย่งชิงอำนาจในการปกครองเมืองวังกับชนพื้นเมืองเดิมคือ พวกข่า โดยทำการเสี่ยงบุญวาสนาแข่งขันยิงลูกหน้าไม้ให้ติดหน้าผา ปรากฎผลว่าลูกหน้าไม้ของฝ่ายท้าวก่าซึ่งติดขี้สูดสามารถยิงติดหน้าผาได้สำเร็จได้ชัยชนจากการประลอง (ท้าวหนู น้องชายของท้าวก่าเป็นผู้แสดงฝีมือ) แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่เหนือกว่าของชนเผ่าผู้ไท ท้าวก่าได้รับการแต่งตั้งเป็น พญาก่า ปกครองเมืองวังขึ้นตรงต่อเวียงจันทน์ ทั้งนี้ต้องส่งพร้า มีดโต้และขวาน เป็นเครื่องบรรณาการต่อกรุงเวียงจันทน์ปีละ 500 เล่ม และต้องส่งขี้ผึ้งหนัก 25 ชั่ง เป็นบรรณาการแก่เจ้าเมืองญวนด้วย ![]() ลุถึง พ.ศ. 2335 - 2338 (ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เมืองแถงและเมืองพวนได้เเข็งข้อกองทัพเวียงจันทน์ได้เคลื่อนพลเข้าตีเมืองทั้งสองและได้กวาดต้อนผู้ไทดำและลาวพวน เป็นเชลยส่งมาที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีรับคำสั่งให้ผู้ไทดำไปอยู่ที่เมืองเพชรบุรี แต่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์กล่าวว่า ญวนตังเกี๋ยยกกองทัพมาตีเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. 2335 เกิดการรบที่เมืองพวน กองทัพญวนถูกทัพฝ่ายเวียงจันทน์ตีแตกไป กองทัพเวียงจันทน์จึงกวาดเอาครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อยส่งมากรุงเทพฯ สี่พันคนเศษ หลักฐานชิ้นนี้ไม่ได้ระบุชื่อเมืองแถงและเมืองพวนที่ได้แข็งข้อกับเวียงจันทน์ แต่การที่เวียงจันทน์กวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองพวนส่งมายังกรุงเทพฯ อาจเป็นไปได้ว่าเมืองพวนมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ ทางการไทยจึงได้หาทางระงับเหตุโดยชิงกวาดต้อนพวกนี้ตัดหน้าฝ่ายญวนเสียก่อน ![]() การอพยพระลอกที่สาม - จากเมืองวังสู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ครั้นปักหลักปักฐานที่เมืองวังได้แล้ว พญาก่า ได้บุตรกับนางลาว 3 คน คือท้าวคำ (ซึ่งตายแต่เล็ก) ท้าวก่ำ และท้าวแก้ว ก็เกิดเรื่องระหองระเเหงในการแต่งตั้งตำแหน่ง พระอุปฮาต (พระอุปราช) กระทั่งพญาก่าสิ้นชีวิต น้องชายคนรองของพญาก่าคือ ท้าวหนู ซึ่งเป็นคนที่ยิงลูกหน้าไม้ชนะพวกข่า ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พญาบุญชุน เจ้าหาญซี่งเป็นน้องชายคนถัดไปได้เป็นเป็น พระอุปฮาต ครั้นพญาบุญชุนถึงแก่กรรมแล้ว เจ้าหาญอุปฮาตก็ได้เป็นเจ้าเมืองและได้บรรดาศักดิ์เป็น พญาลานคำ เมื่อพญาลานคำถึงแก่กรรม เจ้าวังน้อยบุตรพญาลานคำ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองและได้บรรดาศักดิ์เป็นพญาวังน้อย พญาวังน้อยมีบุตร 3 คน คือเจ้าแก้ว เจ้าก่า หรือ กล้า และเจ้าเขืองคำ เมื่อพญาวังน้อยสิ้นไปแล้ว เจ้าก่าได้เป็นเจ้าเมืองและได้บรรดาศักดิ์เป็นพญาก่า พญา ก่ามีภรรยา ๒ คน คือนางสีดาเป็นชาวผู้ไทมีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือ เจ้าน้อย เจ้าลี และเจ้าลุน ส่วนภรรยาคนที่สองเป็นชาวข่าชื่อนางมุลซามีบุตรด้วยกัน ๑ คน ชื่อ เจ้าก่ำ เมื่อพญาก่าถึงแก่กรรม นางมูลซาเป็นผู้มีอิทธิพลต้องการให้เจ้าก่ำบุตรชายเป็นเจ้าเมืองแทน แต่ชาวผู้ไททั่วไปต้องการเจ้าลีเป็นเจ้าเมือง เพราะมีนิสัยอ่อนโยนโอบอ้อมอารี แตกต่างจากเจ้าก่ำที่มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ชอบ ![]() ท่ามกลางความขัดแย้งของการแย่งชิงอำนาจปกครองเมืองวังกำลังครุกรุ่นอยู่นั้น (ราว พ.ศ. 2384 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ประเทศลาวตกอยู่ในสถานะประเทศราช (เมืองขึ้น) ของไทย เมฆหมอกแห่งความยุ่งยากได้ทวีเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากเวียตนามพยายามแผ่อำนาจเข้ามาในลาว เพื่อช่วงชิงประเทศลาวไปจากฝ่ายไทย ชนเผ่าผู้ไทซึ่งถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยของลาวต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในการเลือกข้าง ยิ่งทำเลที่ตั้งของพวกเขาอยู่ใกล้ชิดกับเขตแดนของเวียตนาม ยิ่งสร้างหวาดระแวงต่อฝ่ายไทยยิ่งขึ้นไปอีกว่าว่าฝ่ายผู้ไทนั้นจะเลือกข้างอย่างไร ในปีนั้นเองพระมหาสงครามแม่ทัพไทยพร้อมด้วยอุปราชแห่งเมืองเวียงจันทน์ ได้ยกกองทัพมากวาดต้อนผู้คนตามหัวเมืองขึ้นของเวียงจันทน์ ส่งผลให้ชาวผู้ไทในเมืองวังต้องผนึกกำลังกันสู้พลางหนีพลาง จนเข้าไปอาศัยในดินแดนญวน กองทัพไทยเข้าทำลายเมืองวังเสียย่อยยับ หลังจากนั้น เจ้าราชวงศ์อิน เชื้อสายเดิมของเมืองมหาชัยกองแก้ว ได้เกลี้ยกล่อมเจ้าลีพร้อมด้วยครอบครัวและไพร่พลชาวผู้ไท ให้อพยพข้ามโขงเข้ามาอาสัยอยู่ที่เมืองสกลนคร ![]() ย้อนหลังไปที่ห้วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2369 2371 กองทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ได้เดินทัพลงใต้ หมายจะมาตีกรุงเทพฯ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เส้นทางเดินทัพของเจ้าอนุวงศ์ต้องมาสะดุดเพียงแค่โคราช พ่ายศึกต่อทัพของย่าโม ท้าวสุรนารี สถานการณ์พลิกกลับกลายมาเป็นฝ่ายกบฎในเวลาต่อมา ครั้งนั้นฝ่ายไทยได้ระดมพลปราบปรามเจ้าอนุวงศ์อย่างโหดร้าย เผานครเวียงจันทน์เสียราบเรียบ เผาแม้กระทั่งวัดวาอาราม เหลือแต่วัดพระแก้วกับวัดศรีสะเกษเท่านั้น ทรัพย์สินเงินทองและอาวุธยุโธปกรณ์ของเวียงจันทน์ถูกฝ่ายไทยกวาดไปหมด พร้อมทั้งกวาดต้อนราษฎรเวียงจันทน์ไปจนเกือบจะเป็นเมืองร้าง เพราะฝ่ายไทยไม่ต้องการให้เวียงจันทน์ตั้งตัวแข็งข้อเป็นกบฏกับไทยได้อีก ขณะที่ฝ่ายญวนที่ต้องการขยายอำนาจเข้ามายังลาวและเขมร ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือโอบอุ้มเจ้าอนุวงศ์เป็นอย่างดี อันนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างไทยกับรัฐญวนอย่างรุนเเรงในเวลาต่อมา และเป็นการเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแซงในภายหลัง หลังจากเหตุการณ์กบฎเจ้าอนุวงศ์ ฝ่ายไทยมีนโยบายที่จะอพยพชนเผ่าชาวผู้ไทและชนเผ่าอื่นๆจากชายแดนที่ใกล้ชิดติดกับญวนให้มาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้มากที่สุด เพื่อตัดทอนมิให้เป็นกำลังแก่ฝ่ายเวียงจันทน์และฝ่ายญวนอีกต่อไป แต่การอพยพครั้งนี้ยังไม่ใช่การอพยพครั้งใหญ่ที่สุด ![]() การอพยพระลอกใหญ่ที่สุดของชนเผ่าผู้ไทมายังฝั่งขวาแม่น้ำโขง เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเวียตนามอย่างรุนแรง เพราะญวนแทรกแซงกิจการภายในของประเทศลาวและเขมร ซึ่งฝ่ายไทยถือว่าเป็นประเทศราชของไทย จนนำไปสู่สงครามอันยาวนานระหว่างไทยกับญวน สงครามครั้งนั้นทั้งญวนและไทยต้องใช้สรรพกำลังและทรัพยากรไปมาก ฝ่ายไทยได้เกณฑ์ราษฎรจากภาคอีสานจำนวนมากไปเป็นทหารในการสงคราม ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญวนต่างก็แย่งชิงความได้เปรียบโดยการส่งกองกำลังมากวาดต้อนผู้คนจากลาวฝั่งซ้าย ให้ไปตั้งถิ่นฐานในเขตที่ควบคุมได้ง่าย ภาพความเหี้ยมโหดในการปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ของทัพไทยระหว่างปี 2369 - 2371 ยังคงฝังลึกอยู่ในจิตใจของชาวลาว ต่างพากันเกลียดชังฝ่ายทหารไทย ทำให้ฝ่ายทัพญวนได้เปรียบในระยะเเรก ครั้นต่อมาญวนได้แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของตน ดังปรากฏในบันทึกเอกสารพื้นเวียง ซึ่งคนลาวบันทึกไว้ดังนี้ พระเจ้ากรุงแกวจึงให้โดยยี่ไปรักษาเมืองชุมพรไว้ แกว (ญวน) เกณฑ์ผู้คนมา สร้างค่ายคูเมือง ปลูกตำหนักน้อยใหญ่ผู้คนทิ้งไร่นา เพราะถูกเกณฑ์ชาวเมืองพอง ชุมพร พะลาน สะโปน (เซโปน) อดอยากข้าวยากหมากแพง เพราะเมืองแตกผู้คนยังไม่ได้ทำนาต้องกินหัวมันแทนข้าว แกวยังข่มเหงให้ตัดไม้สร้างเมือง สร้างค่ายคู เมื่อสร้างเสร็จแล้วจัดเวรเฝ้าด่านเสียส่วยทั้งเงินทอง ควาย ช้าง ผึ้ง ผ้า เครื่องหวาย ทุกสิ่งใส่เรือส่งเมืองแกว จนชาวเมืองอดอยาก ร้างไร่ ร้างนา เขาก็ค่อยพากันหนีแกวมาพึ่งลาวทีละน้อยไม่คิดจะอยู่เป็นเมืองต่อไป พวกที่หนีไม่พ้นก็อยู่ที่นั้นบางพวกก็เป็นไข้ลงท้องตาย จนเกิดกระแสตีกลับหันมาเลือกข้างฝ่ายไทย ผลสืบเนื่องจากการสงครามครั้งนี้ทำให้เกิดการอพยพชาวผู้ไทและชนเผ่าอื่นๆจากลาวฝั่งซ้ายครั้งใหญ่ที่สุดข้ามโขงมายังฝั่งขวา ทางการไทยกำหนดให้ชนเผ่าผู้ไทและเผ่าต่างๆที่อพยพมาในคราวนี้ พำนักพักพิงที่เมืองกาฬสินธิ์ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร จนได้สร้างบ้านแปลงเมืองอยู่กันอย่างสันติสุขตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ ![]() หลังจากนั้นทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้ายกฐานะชุมชนที่ชาวผู้ไทมาตั้งถิ่นฐานให้ขึ้นเป็นเมือง และโปรดเกล้าให้หัวหน้าของแต่ละกลุ่มได้บรรดาศักดิ์ในตำแหน่งเจ้าเมือง ดังนี้ ![]() เมืองเรณูนคร ตั้งในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองวัง มีนายไพร่รวม 2648 คน ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวสาย เป็น "พระแก้วโกมล" เจ้าเมืองคนแรก ยกบ้านบุ่งหวายขึ้นเป็นเมืองเรณูนคร ขึ้นต่อเมืองนครพนม คือ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ในปัจจุบัน ![]() เมืองพรรณานิคม ตั้งในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นชาวผู้ไทยอพยพมาจากเมืองวัง จำนวนสองพันกว่าคน ไปตั้งอยู่ที่บ้านผ้าขาวพันนา ตั้งขึ้นเป็นเมืองพรรณานิคม ขึ้นกับเมืองสกลนคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวโฮงกลาง เป็น "พระเสนาณรงค์" เจ้าเมืองคนแรก ต่อมาได้ย้ายเมืองพรรณานิคมไปตั้งที่บ้านพานพร้าว คือท้องที่อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครในปัจจุบัน ![]() เมืองกุฉินารายณ์ ตั้งในสมัยราชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นชาวผู้ไทยที่อพยบมาจากเมืองวังจำนวน 3443 คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านกุดสิม ตั้งขึ้นเป็นเมือง "กุฉินารายณ์" ขึ้นเมืองกาฬสินธิ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ราชวงษ์เมืองวัง เป็น "พระธิเบศรวงษา" เจ้าเมืองกุฉินารายณ์ อ.เขาวง จ.กาฬสินธิ์ ![]() เมืองภูแล่นช้าง ตั้งในสมัยราชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองวังจำนวน 3023 คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านภูแล่นช้าง ตั้งขึ้นเป็นเมือง "ภูแล่นช้าง" ขึ้นเมืองกาฬสินธิ์ ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หมื่นเดชอุดมเป็น "พระพิชัยอุดมเดช" เจ้าเมืองคนแรก ปัจจุบันคือท้องที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธิ์ ![]() เมืองหนองสูง ตั้งในสมัยราชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองวังและเมืองคำอ้อคำเขียว (อยู่ในแขวงสุวรรณเขต ดินแดนลาว) จำนวน 1658 คน ตั้งอยู่บ้านหนองสูงและบ้านคำสระอี ในดงบังอี่ (คำสระอีคือหนองน้ำในดงบังอี่ ต่อมากลายเป็น คำชะอี) ตั้งเป็นเมืองหนองสูง ขึ้นเมืองมุกดาหาร ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวสีหนาม เป็น "พระไกรสรราช" เจ้าเมืองคนแรก เมืองหนองสูงในอดีตคือท้องที่ อ.คำชะอี (ตั้งแต่ห้วยทราย), อ.หนองสูงและท้องที่ อ.นาแก จ.นครพนมด้วย ![]() เมืองเสนางคนิคม ตั้งในสมัยราชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองตะโปน (เซโปน) ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในแขวงสุวรรณเขต ติดชายแดนเวียตนาม อพยพมา 948 คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านส่องนาง ยกขึ้นเป็นเสนางคนิคมขึ้นเมืองอุบลราชธานี ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวจันทร์จากเมืองตะโปน เป็น "พระศรีสินธุสงคราม" เจ้าเมืองคนแรก ต่อมาได้ย้ายไปตั้งเมืองที่บ้านห้วยปลาแดกและเมื่อยุบเมืองลงเป็นอำเภอเสนางคนิคม ย้ายไปตั้งอำเภอที่บ้านหนองทับม้า คือ ท้องที่อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญในปัจจุบัน ![]() เมืองคำเขื่อนแก้ว ตั้งในสมัยราชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองวัง จำนวน 1317 คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านคำเขื่อนแก้วเขตเมืองเขมราฐ ตั้งขึ้นเป็นเมืองคำเขื่อนแก้ว ขึ้นเมืองเขมราฐ ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวสีหนาท เป็น "พระรามณรงค์" เจ้าเมืองคนแรก เมื่อยุบเมืองคำเขื่อนแก้วได้เอานามเมืองคำเขื่อนแก้วไปตั้งเป็นชื่ออำเภอที่ตั้งขึ้นใหม่ที่ตำบลลุมพุก คือ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธรในปัจจุบัน ส่วนเมืองคำเขื่อนแก้วเดิมที่เป็นผู้ไทย ปัจจุบันเป็นตำบลคำเขื่อนแก้ว อยู่ในท้องที่อำเภอชานุมาน จ.อำนาจเจริญในปัจจุบัน ![]() เมืองวาริชภูมิ ตั้งในสมัยราชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2420 เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองกะปอง ซึ่งอยู่ในห้วยกะปอง แยกจากเซบั้งไฟไหลลงสู่แม่น้ำโขงในแขวงคำม่วนฝั่งลาว จึงมักนิยมเรียกผู้ไทยเมืองวาริชภูมิว่า "ผู้ไทยกระป๋อง" ผู้ไทยเมืองกระปองไปตั้งอยู่ที่บ้านปลาเปล้า แขวงเมืองหนองหาร จึงตั้งบ้านปลาเปล้า ขึ้นเป็น "เมืองวาริชภูมิ" ขึ้นเมืองหนองหาร ต่อมาได้ย้ายเมืองไปตั้งที่บ้านนาหอย เขตเมืองสกลนคร จึงให้ยกเมืองวาริชภูมิไปขึ้นเมืองสกลนคร คือ ท้องที่อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนครในปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวพรหมสุวรรณ์ เป็น "พระสุรินทร์บริรักษ์" ![]() เมืองจำปาชนบท ตั้งเมื่อรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2421 เป็นชาวผู้ไทยที่อพยพจากเมืองกะปอง ตั้งอยู่ที่บ้านจำปานำโพนทอง ตั้งขึ้นเป็นเมืองจำปาชนบท ขึ้นเมืองสกลนคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวแก้วเมืองกะปอง เป็น "พระบำรุงนิคม" เจ้าเมืองคนแรก ปัจจุบันคือท้องที่อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ![]() บทส่งท้าย จากถิ่นเดิมที่เมืองแถงของเเคว้นสิบสองจุไท ผองพี่น้องผู้ไทได้เดินทางหลายร้อยกิโลเมตร ผ่านกาลเวลาหลายร้อยปี ผ่านสถานการณ์การเมืองที่พลิกไปพลิกมาจากหลายฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย บางครั้งมีความยุ่งยากในการเลือกข้าง ด้วยวิถีชีวิตของชนเผ่าที่ต้องการดำรงชีพอย่างสงบสุข ในที่สุดก็ผ่านความยากลำบากต่างๆมาได้ จนได้มาพบนิวาสสถานอันสงบสุขบนผืนแผ่นดินไทย และเป็นคนไทยอย่างเต็มภาคภูมิ ยังคงสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามมาตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ ข้อมูลจาก < http://revival.snru.ac.th/race/3.htm > < http://www.surinmajestic.net/index.p....=332907 > < http://www.isangate.com/entertain/dance_074.html#3pao > เรียบเรียงโดย salin Posted by salin on 25 Jul. 2006,18:41
วิพากย์เพลงเอก แม่ค้าตาคม (ความยาว 2.25 นาที)คำร้อง - ทำนอง ไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้อง - ศรคีรี ศรีประจวบ (บันทึกเสียงครั้งแรก พ.ศ. 2513) ![]() ก่อนที่จักได้วิพากย์บทเพลงแม่ค้าตาคม ขอสักการะต่อบรมครูเพลงนาม ไพบูลย์ บุตรขัน ที่ได้สร้างสรรบทเพลงที่งดงามจำนวนมากจารึกไว้ในบรรณภพเพลงลูกทุ่ง เพลงแม่ค้าตาคม นี้เป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่กลั่นมาจากภูมิปัญญาของครูท่านทั้งเนื้อร้องและทำนอง ก่อนที่จะมอบให้กับศิษย์เอกคนหนึ่งคือ ศรคีรี ศรีประจวบ เป็นผู้ขับร้อง ครูไพบูลย์นั้นเป็นชาวสามโคก จังหวัดปทุมธานี เติบโตมากับท้องทุ่งและสายน้ำเจ้าพระยา ครูท่านจึงได้ซึมซับบรรยากาศของสายน้ำเเห่งนี้ถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงได้อย่างลุ่มลึกและเเหลมคม ประหนึ่งว่าคนฟังเพลงสามารถเล็งเห็นภาพของสายน้ำเจ้าพระยาและสรรพสิ่งทั้งปวงโลดเเล่นพริ้วไปกับเสียงเพลง หลายท่านคงมีความทรงจำที่งดงามกับสายน้ำเเห่งนี้ที่เปรียบประหนึ่งเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนไทยจำนวนมาก ขอย้อนเวลากลับไปยังอดีตเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนนี้ที่การคมนาคมและขนส่งของเมืองไทยนั้นยังใช้เส้นทางน้ำเป็นหลัก โดยเฉพาะสายน้ำเจ้าพระยาที่มีเรื่องราวอันประทับใจเกิดขึ้นมากมาย ![]() ขึ้นต้น intro melody แบบค่อนข้างธรรมดาท่วงทีเหมือนจะเป็นการสร้างทำนองเพลงเข้าสู่บทร้องท่อนเเรกเลยทีเดียว ท่อนเเรก เป็นการเปิดตัวคู่พระ-คู่นางบนเรือด่วนที่ล่องมาตามสายน้ำเจ้าพระยา จากต้นทางบ้านแพน (อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา) มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ (คลิกเปิดเพลง < http://img99.imageshack.us/my.php?....om1.swf > ) พี่พบเนื้อนวลเมื่อนั่งเรือด่วนสายบ้านแพน เราต่างรักกันเหมือนแฟนเมื่อเรือด่วนแล่นถึงเมืองปทุม เรือด่วนวิ่งไปเหมือนหัวใจพี่ตกหลุม พี่หลงรักแม่เนื้อนุ่มแม่ค้าสาวชาวบ้านแพน ครูท่านมิได้ให้รายละเอียดลึกลงไปว่าเจ้าหนุ่มนั้นเป็นใคร หากอ้างจากเนื้อเพลงท่อนที่สามอาจตีความได้ว่าเจ้าหนุ่มนั้นได้เคยพบสาวเจ้าที่ท่าเตียนมาก่อนและคงเเอบหมายปองอยู่ในใจ รวบรัดมาถึงตอนที่เจ้าหนุ่มมีโอกาสนั่งคู่กับสาวเจ้าบนเรือด่วน กว่าที่เรือจะแล่นถึงท่าเตียนต้องใช้เวลานานกว่าสองชั่วโมง (ชื่อ เรือด่วน ก็จริงแต่จอดแทบทุกท่าเลยครับ แถมวิ่งเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่งโมง) ก็เลยสบโอกาสหว่านวาจาเกี้ยวพาราสี เผลอๆอาจพลั้งปากบอกรักไปเลยก็ได้ ครั้นเรือด่วนเเล่นมาถึงท่าน้ำเมืองปทุมก็พาลคิดไปเองว่าสาวเจ้ามีใจตอบรับ หัวใจของเจ้าหนุ่มก็พองโตไม่อยากให้เรือเเล่นถึงท่าเตียนเลยเชียว โอ้ละหนอ รักครั้งแรกของหนุ่มๆ ช่างใสซื่อบริสุทธิ์ดุจหยาดน้ำค้าง (กรุณาอย่าอ๊วก) ![]() ท่อนที่สอง รักแล้วมิได้พบหน้าน้อง หัวอกต้องหมองตรมแบบนี้แหละหนอ ไม่เห็นเนื้อนวลพี่นั่งคร่ำครวญใจหมุนเวียน คอยดักน้องถึงท่าเตียนทุกเที่ยวเรือเปลี่ยนไม่เห็นหน้าแฟน เรือด่วนกลับไปเหมือนหัวใจพี่ปวดแสน ไม่พบหน้าแม่เนื้อแน่นแม่ค้าบ้านแพนสาวนัยน์ตาคม ครูท่านได้ลิขิตภาพของนางเอกตามท้องเรื่องว่าเป็นสาวไทยตาคมผมยาว ผิวออกคล้ำๆ ขำคม ประหนึ่งแม่แตงร่มใบประมาณนี้แหละ หลังจากออกปากฝากรักไปแล้วสาวเจ้ามีท่วงทีตอบรับ ตามวิถีทางก็ต้องติดตามปลูกรัก-รดน้ำ-พรวนดิน ท่านที่เคยผ่านความรักมาแล้วจะทราบดีว่าตอนนี้แหละเป็นตอนที่สวีทที่สุด ฝนตกก็มิกลัวเปียก เเดดกล้าก็มิกลัวร้อน ครั้นไม่พบนวลเจ้าอีกหัวอกของเจ้าหนุ่มจะปวดร้าวขนาดไหน ต้นรักเพิ่งจะปลูกไปได้เพียงวันเดียว สาวเจ้าไยมาปล่อยให้มันแห้งเหี่ยวกระนั้นเชียวหรือ ครูท่านสื่อความอีกว่า ท่าเตียน นั้นเป็นท่าเทียบเรือที่สำคัญของเส้นทางเดินเรือโดยสารตามลำน้ำเจ้าพระยา คงเป็นเพราะทำเลอยู่ใกล้กับปากคลองตลาดและสถานที่ทำมาค้าขายอีกหลายแห่ง ![]() ท่อนที่สาม เฝ้าคอยแล้วเฝ้าคอยอีกด้วยความหวัง เฝ้ามองมองหาแม่ค้าหน้านวล ทุกเที่ยวเรือด่วนไม่เห็นนวลน้องพี่หมองตรม เคยเห็นแม่ค้าตาคม มาซื้อลำไยเงาะส้มอีกทั้งขนมไปขายเสมอ ครูไพบูลย์ได้สะท้อนภาพชีวิตของสายน้ำเจ้าพระยาออกมาอย่างชัดเจนยิ่งผ่านตัวละคอนแม่ค้าสาวจากบ้านแพนคนนี้นี่เอง ครูท่านได้นำภาพของชีวิตบนสายน้ำแห่งนี้มาผูกเข้ากับบทเพลงรักระหว่างหนุ่ม-สาวได้อย่างกลมกลืน เจ้าหนุ่มเคยเห็นสาวเจ้ามาซื้อผลหมากรากไม้ไปขายที่ตลาดบ้านแพนอยู่เสมอ ครั้นได้ผูกสัมพันธ์รักใคร่กันแล้ว กลับมิได้พบพานสาวเจ้าอีกเลย หัวใจของชายหนุ่มที่เต็มไปด้วยความรักและความหวังจะมิปวดร้าวได้อย่างไร ![]() ท่อนส่งท้าย เฝ้ารอจนถึงที่สุดแล้วก็ยังมิได้พบหน้าสาวเจ้า อย่ากระนั้นเลย จุดเทียนเขียนจดหมายฝากนายท้ายเรือไปหาสาวเจ้าดีกว่า แม่ค้าหน้านวลเคยนั่งเรือด่วนสายบ้านแพน ไยหลบหน้าตาหนีแฟนเห็นเรือด่วนแล่นคิดถึงแต่เธอ เคยฝากจดหมายนายท้ายเรือให้เสมอ พี่หลงคอยคอยน้องเก้อเฝ้าหลงคอยเธอท่าเตียนทุกวัน ครูท่านคิดมุขนี้ออกมาได้อย่างไรนะนี่ ฝากจดหมายไปกับนายท้ายเรือ ช่างคลาสสิกจริงๆ ครูไพบูลย์สะท้อนวิถีชีวิตแบบเรียบๆซื่อๆของคนไทยออกมาได้อย่างวิจิตร วิถีชีวิตคนไทยสมัยก่อนโน้นเป็นแบบนี้จริงๆ เอื้ออาทรกันแบบไม่เสเเสร้ง รักก็บอกว่ารัก ชอบก็บอกว่าชอบ อาจมีบางท่านที่เคยแอบชอบหรือแอบรักใครสักคนที่มิได้รู้จักกันอย่างใกล้ชิด แต่แล้วก็มีอันต้องจำพรากจากกันไปโดยมิได้บอกลา หากว่ายังคงเก็บภาพที่งดงามบางช่วงบางตอนไว้ในใจอยู่เสมอ วิพากย์โดย salin Posted by ชายต้อ on 25 Jul. 2006,20:59
ยินดีต้อนรับครับคุณ salin และขอบคุณมากๆสำหรับข้อมูลที่แน่นปึ๊ก หวังว่าคงจะเข้ามาคุยให้ฟังเรื่อยๆนะครับ ![]() Posted by salin on 25 Jul. 2006,21:06
ขอบคุณมากนะครับคุณชายต้อและคุณ KiLin เผอิญผมเพิ่งเข้ามาวงการนี้ได้ไม่นาน ยังไม่ค่อยประสีประสาสักเท่าไร ด้วยใจที่รักเพลงลูกทุ่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อยากแสดงออกถึงความวิริยะเพื่ออนุรักษ์เพลงลูกทุ่งเก่าๆให้สืบทอดไปถึงคนรุ่นต่อๆไป ช่วงนี้รู้สึกเบื่อหน่ายกับหลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่รอบตัว เลยชักนำตนเองมาผ่อนคลายกับ web board ที่นีบ้าง ที่โน่นบ้าง ผมมีความรู้สึกยินดีครับ แนวทางที่ผมเขียนออกจะโบรารณไปหน่อยนะ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเข้ากับ concept ของกระทู้หรือไม่ อย่างไรเสียกรุณาแนะนำด้วยนะครับ ผมเชื่อว่าเสียงเพลงสามารถบันดาลความสุขให้กับมนุษยชาติได้ ถึงแม้นว่าชีวิตผมจะไม่มีความสุขมากนัก แต่ผมอยากเห็นคนอื่นๆมีความสุข มีความสุขกันมากๆ ขอบคุณครับ Salin Posted by pilgrim on 25 Jul. 2006,21:08
ขอบคุณค่ะคุณ salin ที่นำความรู้เรื่องเพลงและคุณศรคีรี มาให้อ่านกัน ชอบเพลงของคุณศรคีรี มากๆเหมือนกันค่ะ ชอบแทบทุกเพลงเลยค่ะ แต่ตอนนี้ จำชื่อเพลงไม่ค่อยได้แล้วค่ะ เคยฟังมาตั้งแต่ตอนเด็กค่ะ มีอยู่เพลงหนึ่งที่ชอบมากเหมือนกันคือ เพลงที่ร้องว่าพี่หลงรักน้อง...ด้วยใจรักแน่ มิแปรเปลี่ยนผัน แต่กลัวน้องนั้นซิจะเปลี่ยนใจ อย่าลืมพี่นะ น้องนางคนดี.... จำไม่ได้แล้วค่ะ ![]() คุณชายต้อ มีเพื่อนคุยแล้วค่ะ ![]() Posted by ฟ้าล้อมดาว on 25 Jul. 2006,21:26
สวัสดีตอนเช้า ๆ วันที่อากาศแจ่มใสค่ะคุณชายต้อและทุก ๆ ท่านค่ะดีจังเลยค่ะ คุณ salin เคยได้ยินแต่คำว่า ภูไท หรือสาวภูไท แต่ไม่เคยรู้ประวัติความเป็นมา รักบอร์ดนี้จังค่ะ นอกจากได้พังเพลงเพราะ ๆ ยังได้ความรู้อีกด้วย ![]() Posted by KiLiN on 25 Jul. 2006,21:46
สวัสดีครับ เพื่อนๆทุกคนการที่คน คนหนึ่งชอบเพลงใดเพลงหนึ่งส่วน หนึ่งจะเกี่ยวพันว่า เพลงๆนั้น ดลใจหรือไปเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงของคนฟัง จึงเกิดความชอบ อีกส่วนหนึ่งการที่ได้รู้ที่มาของเพลงที่เราฟัง ก็ช่วยเพิ่มอรรถรสของการฟังอีกด้วย ผมก็เลยแนะนำให้คุณ salin เปิดกระทู้แยกโดยตรง เพื่อการติดตามง่ายขึ้น แยกจากกระทู้ฟังเพลงทั่วๆไป ในการนี้ก็ได้ย้ายข้อความที่บางคนที่ได้ไปพูดคุยเกี่ยวข้องโดยตรง บางกระทู้มาด้วย ก็ถือโอกาสขออนุญาต ขออภัยเจ้าของข้อความด้วยครับ ![]() Posted by add on 26 Jul. 2006,00:06
ขอบคุณ คุณ salin ที่รวบรวมข้อมูลดีๆมาให้อ่านกัน ดิฉันชอบเพลง แม่ค้าตาคมมากค่ะ ไพบูลย์ บุตรขันนอกจะเขียนภาพได้งดงามแล้ว ท่านยังใช้คำที่ลงตัวพอดี เวลาร้องออกเสียงได้ตามวรรณยุกต์จึงทำให้เพลงยิ่งไพเราะมากขึ้น ต่างจากปัจจุบันที่ต้องร้องเสียงเหน่อเพื่อให้ลงเมโลดี้ ได้ยินเขาว่ากันว่า ก่อนหน้าที่ศรคีรีจะมาร้องเพลงนั้น รุ่งเพชร แหลมสิงห์ เป็นนักร้องที่ไพบูลย์ บุตรขันแต่งเพลงให้ร้องหลายเพลง แต่ต่อมารุ่งเพชรทำตัวไม่เป็นที่พอใจ ไพบูลย์ บุตรขันจึงแต่งเพลงหลังๆให้ ศรคีรี ร้องแทนค่ะ รวมทั้งเพลง แม่ค้าตาคมนี้ด้วย เล่ากันว่าตอนที่ครูไพบูลย์ บุตรขันแต่งเพลงนี้ ท่านได้ชวน รุ่งเพชร แหลมสิงห์ลงเรือด่วนไปด้วย แล้วท่านก็แต่งเพลง รุ่งเพชร แหลมสิงห์ก็เข้าใจว่าท่านจะแต่งเพลงนี้ให้เขาร้อง แต่กลับกลายเป็นว่าท่านให้ ศรคีรี ร้องค่ะ ![]() Posted by salin on 26 Jul. 2006,04:03
วิพากย์เพลงเอก - บุพเพสันนิวาสคำร้อง/ทำนอง - ไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้อง - ศรคีรี ศรีประจวบ ![]() ทักทายกันก่อน บุพเพ รากศัพท์มาจากคำว่า บุพ หรือ บุพพ แปลว่าแต่ครั้งก่อน สันนิวาส แปลว่าการอยู่ร่วมกัน เมื่อคำทั้งสองสมาสกันจึงได้ความหมายว่า การเคยเป็นเนื้อคู่กัน - เคยอยู่ร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ดูความหมายของชื่อเพลงแล้วเหมือนกับเป็นการแสวงหาคำอธิบายเรื่องความรักโดยอิงกับเรื่องชาติภพอย่างไรอย่างนั้นเชียว ครูไพบูลย์ท่านคงมีความลึกซึ้งละเอียดอ่อนในเรื่องของรักเป็นอย่างมาก และด้วยความที่ท่านอาภัพเสียเหลือเกิน ที่มิอาจอิ่มเอมกับความรักได้อย่างใจหมาย อีกแง่มุมหนึ่งกลับเป็นความโชคดีอย่างที่สุดของวงการเพลงลูกทุ่งที่ครูท่านได้ใช้สุทรียภาพบวกกับภูมิปัญญาของท่านลิขิตสิ่งที่ซ่อนเล้นไว้ในใจออกมาเป็นบทเพลงอมตะจำนวนมาก ฝากไว้ให้เป็นมรดกของชนชาติไทย เพลงบุพเพสันนิวาส นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างปราศจากข้อสงสัย ![]() เริ่มต้น intro melody ด้วยเสียงปี่แหลมเสียดแก้วหู (ไม่แน่ใจชนิดของปี่ ใช่ปี่กระจับหรือเปล่าหนอ ผู้ใดทราบช่วยบอกหน่อย) แล้วตามด้วยเสียงแซกโซโฟนหวานๆนำเข้าสู่เนื้อร้องท่อนเเรก (คลิกเปิดเพลง < http://img216.imageshack.us/my.php?image=sornkirithefatepowertf3.swf > ) เนื้อคู่กันแล้วก็คงไม่แคล้วกันไปได้ ถ้าเคยทำบุญร่วมไว้ ถึงจะยังไงก็ต้องเจอะกัน เขาเรียกบุพเพสันนิวาสสร้างสรรค์ คงเคยตักบาตรร่วมขัน สร้างโบสถ์ร่วมกันไว้เมื่อชาติก่อน ครูท่านเปิดวรรคเเรกด้วยคำว่าเนื้อคู่ ซึ่งนำไปสู่การอรรถาธิบายถึงเรื่องของบุเพสันนิวาสตามคติความเชื่อของชาวไทยพุทธว่าคนที่เคย เคยทําบุญร่มชาติ ตักบาตรร่วมขัน เก็บดอกไม้ร่วมต้น สร้างกุศลร่วมกัน เมื่อชาติปางก่อน จึงมีวาสนาได้มาประสบพบกันในชาตินี้ จนกระทั่งผูกรักผูกสัมพันธ์จนได้เป็นเนื้อคู่กัน ขอตั้งข้อสังเกตุว่าเนื้อหาของเพลงรักที่ดีนั้นต้องมีการอ้างอิง (หลักการ) การเปรียบเทียบ หรือการโยงเรื่องเข้ากับตำนาน วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ หาไม่จะกลายเป็นเพลงรักที่หวานจนเอียน ผู้วิพากย์มีความเห็นว่าหากมีการเรียบเรียงดนตรีให้ละเมียดกว่านี้ โดยเฉพาะท่อน intro melody จะทำให้ความไพเราะของบทเพลงนี้ยกระดับขึ้นไปเทียบเท่าเพลง หนาวลมที่เรณู เลยทีเดียว ![]() ท่อนที่สอง เป็นการเปิดตัวคู่พระ-คู่นางที่กำลังตกอยู่ในห้วงภวังค์ของความรัก น้องสบตาพี่ไม่หลบตาหนีพี่รู้แน่ หัวใจของพี่พ่ายแพ้รักน้องศรีแพรเสียแล้วแน่นอน รักเกิดจากใจใครมิได้เสี้ยมสอน มิใช่ภาพลวงภาพหลอน พี่รักบังอรคงเพราะบุพเพฯ ครูท่านเนรมิตภาพของเจ้าหนุ่มที่สารภาพรักต่อนางอันเป็นที่รักเสียหวานหยดย้อย ตามปกติแล้ววิสัยหญิงเมื่อปะหน้ากับชายหนุ่ม สาวเจ้ามักจะมีกิริยาเขินอายชะม้ายตาหลีกหนี หากว่าสายตาของคุณเธอตอบสนองต่อชายหนุ่มโดยมิเลี่ยงหนี นั่นเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเธอมีใจตอบรับ ฉะนี้เเล้วจะมิให้หัวใจของเจ้าหนุ่มลำพองคับอกได้อย่างไร ครูไพบูลย์นำเรื่องบุพเพมาเชื่อมโยงกับความรักของหนุ่ม-สาวได้อย่างน่ารักน่าเอ็นดูเหลือเกิน ![]() ท่อนที่สาม รักจริงหวังเเต่งต้องให้ความมั่นใจต่อคนรัก พี่เป็นคนจริงพูดจริงทําจริง น้องหญิงอย่าพึ่งสนเท่ห์ อย่าเพิ่งขว้างทิ้งพี่คือเพชรจริง มิใช่เพชรเก๊เมื่อรักพี่แล้ว อย่ารวนอย่าเรนะน้องจ๋า ครูท่านฉายภาพของสุภาพบุรุษลูกผู้ชายที่มีรักเดียวใจเดียวประเภทรักจริงหวังเเต่ง เขาให้คำมั่นต่อนางอันเป็นที่รักว่า พี่นี้เป็นคนดีและรักน้องจริงนะ หวังที่จะใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกับน้องตลอดไป เนื้อหาของท่อนที่สามนี้ช่วยเสริมให้บทเพลงบุพเพสันนิวาสมีน้ำหนัก ไม่กลายเป็นเพียงเพลงรักดาดๆ ![]() ท่อนสุดท้าย เป็นเพราะบุพเพจึ่งสร้างสรรค์ให้มาเป็นเนื้อคู่ เนื้อคู่กันแล้วก็คงไม่แคล้วคงไม่คลาด ถ้าเราทำบุญร่วมชาติ ขอยอมเป็นทาสแม่ดวงสุดา เพราะว่าบุพเพสันนิวาสเรียกหา พี่จึงมั่นใจแน่นหนา ว่าขวัญชีวาคงไม่ตัดรอน คู่สมรสจำนวนมิใช่น้อยไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลว่า พวกเขาทั้งคู่มาประสบพบรักกระทั่งตกลงปลงใจกันใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้อย่างไร คำตอบสุดท้ายมักมาจบลงที่บุพเพสันนิวาส อันที่จริงแล้ว บุพเพสันนิวาส สามารถอธิบายได้ด้วยหลักธรรมทางพุทธศาสนาว่าเป็นผลมาแต่เหตุของกรรมนั่นเอง กรรมแต่ชาติก่อนที่ร่วมสร้างสมกันมา (ขออนุโมทนาสาธุ) ครูไพบูลย์ท่านได้ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างบุพเพกับการเป็นเนื้อคู่ในท่อนสุดของบทเพลงให้ติดตรึงอยู่ในใจของคนฟังมาตราบนานเท่านาน วิพากย์โดย salin ป.ล. ภาพประกอบบทวิพากษ์เพลงบุพเพสันนิวาสนี้ เป็นภาพคู่บ่าว-สาวในงานมงคลสมรสหลายคู่ด้วยกัน ผมได้นำมาจาก web site หลายแห่ง (ขอโทษด้วยที่มิได้ขออนุญาต) หากว่ามิได้เป็นการนำมาใช้ในทางที่เสื่อมเสีย และมิใช่เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อประสงค์ผลกำไรแต่อย่างใด ผู้วิพากย์ขออธิษฐานจิตขอพรจากคุณพระศรีรัตนตรัยจงดลบันดาลให้คู่บ่าว-สาวที่ปรากฎในภาพที่นำมาประกอบบทวิพากษ์นี้จงประสบแต่ความสุขตลอดไป Posted by เบญจา on 15 Aug. 2006,05:52
สวัสดีค่ะคุณ salin ไม่เจ๊อะกันนานคิดถึงจังเล๊ยยยยวันนี้คงไม่ได้ให้คุณมาวิพากย์ เพลง ที่ทักทายคุณหรอกนะ อยากให้คุณวิพากย์เพลง คุณศรคีรีมากกว่า วันนี้เพลงอะไรดีเอ่ย เบญจา ![]() Posted by salin on 15 Aug. 2006,23:03
สวัสดีครับคุณเบญจาตั้งแต่ย้ายกระทู้มาอยู่ที่ใหม่รู้สึกว่าเงียบเหงาไปเยอะเลย ไม่ค่อยมีเพื่อนๆมาทักทายเหมือนเคย ช่วงที่ผ่านมาผมห่างหายไปจากการวิพากย์เพลงเอก เนื่องจากตาข้างขวาเอกเสบนะครับต้องอยู่ห่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปพักใหญ่ แต่ตอนนี้ปกติดีเเล้วครับ จะกลับมาวิพากย์เพลงเอกและเขียนสารคดีให้เพื่อนๆได้อ่านกันอีก ได้เตรียมข้อมูลไว้พอสมควร เพื่อนๆเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันบ้างนะครับ salin Posted by เบญจา on 18 Aug. 2006,11:59
< http://www.komchadluek.net/news/2005/01-31/ent-16239431.html >สวัสดีค่ะคุณสาริน เอามาฝากค่ะ พอดีอ่านเจอ อยากให้คุณวิพากย์เพลงคิดถึงพี่หน่อย(นะกลอยใจพี่)นะคะ และขอให้คุณมีสุขภาพแข็งแร็ง ด้วยค่ะ เบญจา ![]() |